ขอที่ยืนในสังคมคือความหวังของ “นักกีฬาคนพิการ”

ขอที่ยืนในสังคมคือความหวังของ “นักกีฬาคนพิการ”

ในสภาพสังคมอันซับซ้อนและวุ่นวาย เราอาจจะแบ่งแยกกลุ่มคนได้หลายประเภท แต่ถ้าเราพิจารณาแค่ด้านกายภาพเพียงอย่างเดียว เราคงแบ่งได้ 2 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ คนที่มีอวัยวะร่างกายสมบูรณ์ครบ 32 ประการ ส่วนอีกกลุ่มคือ คนพิการ ทั้งพิการโดยกำเนิดหรือเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งกลุ่มคนอย่างหลังนี้เอง คือกลุ่มคนที่มักจะถูกคนในสังคมไทยมองข้ามและดูถูก เพราะฉะนั้น “ที่ยืน” ในสังคมของคนพิการจึงถูกจำกัด ใครที่เกิดในครอบครัวมีฐานะก็อาจจะดีหน่อย แต่ส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตที่ลำบาก เพราะว่าบางคนเติบโตในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าคนพิการ บางคนก็อยู่ในครอบครัวที่พิการทั้งบ้าน และด้วยปัจจัยต่างๆที่บีบบังคับให้กลุ่มคนที่ไม่สมบูรณ์ทางร่างกายมีทางเลือกในการดำรงชีวิตและอาชีพการงานไม่มากนัก

โดยข้อมูลจากสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะมีนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยที่ชนะการแข่งขันกีฬาระดับโลกและสามารถคว้าเหรียญมามากมายอย่างทุกวันนี้ หลายคนรู้สึกว่าตนไม่มีที่ยืนในสังคม และอยากขอโอกาสเพื่อสร้าง “คุณค่า” ให้ตัวเอง แบ่งเวลาฝึกซ้อมฝึกฝนตามชมรมต่างๆแล้วแต่ประเภทของกีฬา โดยทุกชมรมขึ้นตรงกับสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เมื่อมีฝีมือดี ก็สมัครเข้าแข่งขันคัดเลือกในระดับภูมิภาค,ประเทศ,อาเซียน,เอเชีย จนถึงระดับโลกอย่างพาราลิมปิก ตามลำดับ ทุกๆรางวัลที่นักกีฬาคนพิการคว้ามาได้ คือความภาคภูมิใจ เสมือนเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นความหวังให้คนพิการทั่วประเทศ ให้กล้าที่จะมีความฝัน ทำประโยชน์ให้สังคม และสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง พิสูจน์ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าร่างกายจะไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่หัวใจเกินร้อยกว่าคนที่สมบูรณ์

จากเสียงเพลงชาติไทยที่ดังกึ่งก้องไปทั่วสนามในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญมาได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ “ได้ใจ” คนไทยที่ติดตามเชียร์และร่วมให้กำลังใจนักกีฬาทั้ง 50 คน ถึงกระแสสังคมจะตอบรับไม่ดีเท่าการแข่งขันโอลิมปิกที่ผ่านมา แต่สื่อออนไลน์ก็ช่วยกันเป็นกำลังใจ ช่วยโพส-แชร์ บอกต่อๆกัน จนเกิดกระแสพูดถึงความไม่เท่าเทียมกันของนักกีฬาพาลาลิมปิกและโอลิมปิก ทำให้หลายๆองค์กรเริ่มออกประกาศมอบให้เงินสนับสนุนนักกีฬามากขึ้น (ถึงแม้จะใกล้จบการแข่งขันแล้วก็ตาม) ยังไงก็แล้วแต่เงินอัดฉีดคงไม่สำคัญเท่าการช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนนักกีฬาในการฝึกซ้อมไปจนถึงพัฒนาความสามารถของโค้ช ก่อนที่จะเดินทางไปแข่งขันในทุกๆโปรแกรม … โดยการแข่งขันพาราลิมปิกในครั้งนี้ ต้องให้เครดิตผู้ที่สนับสนุนนักกีฬาตลอดมาคือ สิงห์ คอปเปอเรชั่น, เสื้อผ้า FBT และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยผู้เขียนหวังว่า องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนจะหันมาสนใจสนับสนุนวงการกีฬาอย่างจริงจัง แทนการทำการตลาดที่ฉาบฉวยครับ

สุดท้ายที่อยากจะฝากไว้คือ นักกีฬาคนพิการทุกคนคือ “ฮีโร่” ของคนไทย มีศักดิ์ศรีและเกียรติยศไม่น้อยไปกว่านักกีฬาโอลิมปิก ทุกคนสู้ด้วยใจและทำเพื่อชาติ โดยแลกกับการสร้างคุณค่าให้ตัวเองและขอมีที่ยืนในสังคมไทย



I'm the creator and producer of a tv show. Also, I work on social media marketing for artists, products and special projects. I love writing- photography and enjoy sharing them on my social media. I like the hit music, good movies, exercise and traveling. This is my blog. I hope you will enjoy it.