ชมคลิปพาเที่ยว “หลวงพระบาง” ประกอบรีวิว
.
ความเป็นมาของ “หลวงพระบาง”(ย่อ)
ย้อนกลับไปพันกว่าปี ราว พ.ศ.1300 ขุนลอได้ขับไล่ชนเผ่าชาวเขาต่างๆ แล้วตั้งชื่อเมืองบริเวณแม่น้ำโขงบรรจบกับแม่น้ำคานว่า “ศรีสัตนาคนหุตอุตมราชธานี” แล้วมีอีกชื่อเรียกคือ “เชียงคงเชียงทอง” ต่อมาในปีพ.ศ.1869 เป็นช่วงที่ถือว่าเป็นช่วงสร้างชาติลาว โดยพระเจ้าฟ้างุ่ม ได้ทรงทำสงครามตีเอาเวียงจันทร์ หัวเมืองพวน ไปจนถึงที่ราบโคราช ทำให้ลาวเป็นปึกแผ่นนับจากนั้น ต่อมาช่วงปีพ.ศ.2055 พระเจ้าวิชุณราช อัญเชิญพระบาง หลังจากที่ประดิษฐานที่เวียงจันทร์นับ 100 ปี ขึ้นไปไว้ที่เมืองเชียงคงเชียงทอง ทำให้นับจากนั้นเมืองนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “หลวงพระบาง”
อาณาจักรล้านช้าง เจริญถึงขีดสุดทั้งศิลปะวัฒนธรรม ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาไปจนถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ต่อมาอาณาจักรล้านช้างได้แตกเป็น 3 ส่วนคือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง, อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทร์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ โดยอาณาจักรต่างๆได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรรอบข้าง เช่น ญวน, ไทย และจีน เป็นต้น เมื่อปีพ.ศ.2321 เป็นเมืองขึ้นแก่สยามยาวนานถึง 114 ปี ก่อนที่จะเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
ถึงแม้ว่าลาวจะแบ่งออกเป็น 3 อาณาจักร แต่กษัตริย์ที่ได้รับความนับถืออย่างเป็นทางการ คือ กษัตริย์จากอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง มีพระราชวังที่ประทับของพระองค์เอง จนถึงในยุคล่าอาณานิคม ตลอดจนสงครามอินโดจีน ทำให้ประเทศลาวเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปัญหาสงครามตัวแทนหรือคอมมิวนิสต์ จนเป็นที่มาถึงการยกเลิกระบอบกษัตริย์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2518 โดยกษัตริย์พระองค์สุดท้ายคือ พระเจ้าศรีสว่างวัฒนา และปัจจุบันลาวปกครองในรูปแบบคอมมิวนิสต์ (แบบเดียวกับเวียดนาม)
ฉะนั้นถ้ามีใครถามว่า อะไรคือรากเหง้าของชนชาติลาวของแท้จริง ก็ต้องขอตอบว่า “หลวงพระบาง” เพราะที่นี้ได้รวบรวมศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงภาษาแบบลาวดั้งเดิมได้อย่างดี ซึ่งคุณค่าที่ยังอยู่คู่กับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งจนได้รับยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลกตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา
ข้อมูลพื้นฐานเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
ภาษาราชการ: ภาษาลาว (พูดไทยรู้เรื่อง)
ภูมิอากาศ: มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน (ก.พ.-เม.ษา), ฤดูฝน (พ.ค.-ต.ค.), ฤดูหนาว (พ.ย.-ม.ค.)
ค่าเงิน: กีบ (LAK) เปรียบเทียบ 10,000 กีบ = 45 บาท
เวลาในประเทศลาว: เท่ากับประเทศไทย
การเดินทางไปเมืองหลวงพระบาง(จากกรุงเทพฯ) คนไทยไม่ต้องทำวีซ่า
- เครื่องบิน ใช้เวลาบินเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง มีทั้งสายการบิน Full Service และ Low Cost ให้เลือกมากมาย เช่น Bangkok Airways, Lao Airlines, AirAsia เป็นต้น *หมายเหตุ: มีเครื่องบินบินตรง เชียงใหม่-หลวงพระบาง อีกด้วย
- รถยนต์-รถทัวร์ เดินทางได้หลายเส้นทาง ใช้เวลา 17-20 ชั่วโมง
2.1 กรุงเทพฯ-เลย-หลวงพระบาง
2.2 กรุงเทพฯ-หนองคาย-เวียงจันทร์-หลวงพระบาง
2.3 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-หลวงพระบาง
2.4 กรุงเทพฯ-น่าน-หลวงพระบาง

บรรยากาศหลวงพระบาง เมื่อมองจากเครื่องบิน

ถึงแล้วครับ สนามบินหลวงพระบาง
ซิมอินเตอร์เนท, การแลกเงิน, รถรับส่งเข้าเมือง
เมื่อเดินทางถึงสนามบินหลวงพระบาง บริเวณทางออกมีเคาน์เตอร์ให้บริการ ทั้ง ซิมอินเตอร์เนท, แลกเงิน และ รถรับส่งเข้าเมือง (ไปส่งถึงโรงแรม)
โดยอัตราค่าอินเตอร์เนทก็แล้วแต่แพ็คเก็จที่เราเลือก ส่วนการแลกเงินเรทค่อนข้างโอเคอยู่ แลกติดตัวไปสักหน่อย แล้วค่อยไปแลกในเมืองก็ได้ (ตามเอเจนซี่ทัวร์ รับแลกเงิน เรทดี) และรถไปส่งเข้าเมือง ราคา 50,000 กีบครับ

ซิมอินเตอร์เนท

เคาน์เตอร์ขายซิมอินเตอร์เนท-โทรศัพท์

เคาน์เตอร์ขายซิมอินเตอร์เนท-โทรศัพท์

แพ็คเก็จอินเตอร์เนท

แลกเงิน

หน้าตาแท็กซี่ไปส่งเราที่โรงแรม
ที่พัก
ผมแนะนำ 2 สถานที่คือ ริมแม่น้ำโขง และ ริมแม่น้ำคาน เป็นสถานที่ที่ดีที่คุณจะมองเห็นวิวอันสวยงามของภูเขาและสายน้ำ ร้านอาหารมีมากมายเช่นกัน ส่วนโรงแรมระดับนั้นแล้วแต่สะดวกครับ
ส่วนผมพักโรงแรมริมแม่น้ำโขง ราคาราวๆ 500 บาท ห้องกลางๆที่พักสะอาด อ่านรีวิวที่ >> http://www.nightphoomin.com/viewkhemkhongguesthouse/
แผนที่ท่องเที่ยว “หลวงพระบาง” (ไฟล์ใหญ่คลิกที่ภาพ)
รีวิวการท่องเที่ยว “หลวงพระบาง”
เมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านช้าง อายุกว่า 600 ปี เมืองมรดกโลกที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก้เมื่อปี 1995 เป็นเมืองที่ผมใฝ่ฝันและคิดถึงที่จะมาเยือนนานแสนนานแล้วครับ แต่ก็ไม่ได้ไปสักที … จนผมได้มีโอกาสดีเรื่องของเวลาที่เหมาะสม รวมถึงราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่ไม่แพงมา แล้วเป็นช่วงวันวิสาขบูชาวันสำคัญทางพุทธศาสนา ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้ไปพักผ่อนร่างกาย บำบัดหัวใจ ไหว้พระทำบุญ และได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนลาวดั้งเดิมไปพร้อมๆกัน เป็นเวลา 6 วัน 5 คืน
จากสนามบินดอนเมืองเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ก็ถึงสนามบินหลวงพระบาง ด้วยภูมิประศาสตร์ที่เต็มไปด้วยป่าเขาต้นไม้หนาทึบแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมองลงไปด้านล่างทำให้สนามบินหลวงพระบางดูเล็กไปถนัดตา ผมมาเที่ยวหลวงพระบางในเดือนพฤษภาคม ถือว่าเป็นช่วงฤดูน้อย แต่อุณหภูมิที่นี้เย็นกว่าเมืองไทยราวๆ 4-5 องศา ไม่ร้อนมากสลับฝนเล็กน้อย พอเครื่องลงจอดเดินไปประทับตราเข้าประเทศเรียบร้อย ตรงบริเวณทางออกจะเจอเคาน์เตอร์ขายซิมการ์ดอินเตอร์เนท เราสามารถเลือกแพ็คเก็จราคาต่างๆได้จากที่นี้ถือว่าสะดวกมากๆครับ ส่วนการแลกเงินกีบนั้น มีเคาน์เตอร์ธนาคารอยู่ธนาคารเดียวในสนามบิน จะแลกน้อยแลกมากเอาตามสะดวก ส่วนตัวผมแลกติดตัวไปราวๆ 3,000 บาท และสุดท้ายคือเคาน์เตอร์รถแท็กซี่เพื่อพานักท่องเที่ยวไปส่งในตัวเมืองหลวงพระบาง
หลังจากซื้อซิมการ์ด แลกเงิน ผมก็นั่งแท็กซี่เพื่อเดินทางไปที่โรงแรมริมแม่น้ำโขง แท็กซี่แวะส่งนักท่องเที่ยวคนอื่นที่เดินทางมาด้วยกันตามโรงแรมต่างๆที่ผ่านก่อนจะถึงโรงแรมผม ผมถึงโรงแรมในช่วงบ่ายกว่าๆ เป็นโรงแรมไม่เล็กริมแม่น้ำโขง มีร้านอาหารของโรงแรมมองวิวแม่น้ำและฝั่งตรงข้ามได้ชัดเจน หลังจากเช็คสภาพห้อง เก็บของเรียบร้อย ก็เตรียมตัวออกไปเดิมชมย่านเมืองเก่าหลวงพระบาง เริ่มต้นทริปนี้ด้วยการขึ้นไปพระธาตุพูสี เพื่อชมความงามของเมืองหลวงพระบางในยามพระอาทิตย์ตกครับ …
วัดพระธาตุพูสี (ค่าเข้า 20,000 กีบ)
เนินเขากลางเมืองหลวงพระบางเป็นที่ตั้งของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ที่ชาวหลวงพระบางให้ความเคารพอยู่คู่เมืองนี้มาช้านาน โดยความเชื่อของชาวหลวงพระบาง พูสี หมายความว่า ภูเขาของพระฤาษี เคยเป็นที่อาศัยของฤาษีมาก่อน และอีกสันนิษฐานหนึ่งคือ เป็นภูเขาที่ที่ศรีของเมืองหลวงพระบาง ครับ

วัดพูสี เมื่อมองจากแม่น้ำโขง และสังเกตเห็นพระราชวังอยู่ด้านหน้า
พระธาพูสีอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์พระราขวัง ตรงทางขึ้นเป็นถนนไนท์บาซาร์ เดินขึ้นบันไดมา นักท่องเที่ยวจะต้อซื้อบัตรราคา 20,000 กีบ(90 บาท) เดินขึ้นบันได้ 328 ขั้น ลัดเลาะผ่านต้นไม้ร่มรื่นจนถึงยอดเขา(หอบเบาๆเหมือนกันนะ) จะพบกับอุโบสถและพระธาตุพูสีสีทองสุกมีเศวตฉัตร 7 ชั้น ความสูงราว 21 เมตร ส่วนบริเวณรอบๆจะเห็นนักท่องเที่ยวมากมายจับจองพื้นที่ยืนรอชมพระอาทิตย์ตก ระหว่างที่รอนั้นเราสามารถเข้าไปไว้พระในอุโบสถหรือชมวิวเมืองหลวงพระบางรอบๆได้อย่างชัดเจน ถ้าวันไหนคุณขึ้นมาที่นี้ ท้องฟ้าแจ่มใสรับรองว่าคุณจะได้ภาพสวยๆกลับไปแน่นอน
เวลาประมาณ 6 โมงกว่าๆ เพราะอาทิตย์คล้อยลงต่ำผ่านหลังเขาโดยมีแม่น้ำโขงอยู่เบื้องหน้า เป็นภาพที่ยากจะลืมเลือนได้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้มองพระอาทิตย์ตกสวยงามอีกที่หนึ่งของโลกก็ว่าได้ พอพระอาทิตย์หายลับข้ามฟ้า นักท่องเที่ยวต่างปรบมือยินดีกับเหตุกาณ์น่าประทับใจที่เกิดขึ้น สำหรับผมแล้วเป็นการต้อนรับสู่การมาเยือนหลวงพระบางอย่างเป็นทางการแบบฟินๆครับ

ทางขึ้นวัดพูสี

ค่าเข้า 20,000 กีบ

วิวเมืองหลวงพระบาง (ฝั่งเมืองใหม่)
ตักบาตรข้าวเหนียว
บนถนนหลักหลวงพระบาง หรือว่า Main Street บริเวณ 4 แยกตรงอาคารสถานีตำรวจ (สุดถนนศรีสว่างวงศ์ต่อด้วยถนนศักริน) บริเวณนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการตักบาตข้าวเนียว ทุกๆวันเวลา ตี 5 ครึ่งจะมีแม่ค้าถูกกฎหมายที่ได้รับอนุญาติจากทางการลาวนำข้าวเหนียวและขนมมาขายให้นักท่องเที่ยว พร้อมกับเก้าอี้ที่เรียงรายรอนักท่องเที่ยวทุกเช้า โดยพระสงฆ์จากหลายวัดจะตั้งต้นบิณฑบาตร ณ จุดนี้ ก่อนนี้จะแยกย้ายไปตามเส้นทางต่างๆ ถึงแม้ว่าบางคนก็บอกว่าการตักบาตรข้าวเหนียวเป็นกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวมากกว่าเข้าใจวัฒนธรรมชาวหลวงพระบางจริงๆ สุดท้ายผมมองว่า เป็นกิจกรรมที่สิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี ส่วนเจตนาเป็นอย่างไรอยู่ที่จิตใจของผู้ทำบุญเองมากกว่าครับ … ซึ่งวันที่ผมมาเป็นวันวิสาขบูชา ถึงแม้คนไม่เยอะตามที่คาดไว้ แต่ผมก็อิ่มใจที่ได้มาตักบาตรทำบุญเริ่มต้นวันสำคัญทางศาสนาเริ่มต้นด้วยสิ่งดีๆ
ปล. ระหว่างเดินทางมา จะมีแม่ค้าดักรอขายของอยู่ด้วย ไม่ต้องสนใจนะครับ เดินไปซื้อที่ตักบาตรเลยครับ
ถนนศรีสว่างวงศ์
ถนนหลักเมืองหลวงพระบาง ถนนที่ทอดยาวผ่านย่านเมืองเก่าแห่งนี้เต็มไปด้วยวัดวาอาราม, โรงแรม, ร้านอาหาร, ร้านขายของมากมาย รวมถึงไนท์บาร์ซาร์อีกด้วย ตอนเย็นๆจะมีร้านขายเครป, ร้าน้ำปั่น และร้านก๋วยเตี๋ยวมาตั้งอีกด้วย
สำหรับใครที่มองหาการซื้อทัวร์ไปสถานที่ต่างๆหรือเมืองต่างๆ เช่น ลาว, เวียดนาม, ไทย เป็นต้น ก็หาซื้อจากเอเจนซี่บนถนนย่านนี้ได้ ส่วนการแลกเงินเอเจนซี่ก็มีให้บริการเช่นกัน เรทค่อนข้างดีทีเดียวครับ นอกจากนี้ยังมีร้านให้ช่ามอเตอร์ไซค์อีกด้วย สำหรับร้านขายของชำนั้น ราคาจะแพงกว่าเมืองไทยนะครับ เพราะของนำมาจากเมืองไทยผ่านเวียงจันทร์จนมาถึงหลวงพระบาง การเดินทางไม่ได้ง่ายเลย ฉะนั้นของใช้ที่จำเป็น เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เตรียมมาให้พร้อมจะสะดวกที่สุดครับ

แสงไฟตามร้านต่างๆยามเย็น
พิพิธภัณฑ์พระราชวัง (ค่าเข้า 30,000 กีบ)
พิพิธภัณฑ์พระราชวัง หรือ พระราชวังหลวงพระบาง เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันอังคาร ช่วงเช้า 8.00-11.30น. และช่วงบ่าย 13.30-16.00น. สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างเมื่อปีพ.ศ.2447 โดยพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์ของประเทศลาวในสมัยนั้น ทางเข้ามีต้นตาลสูงทอดยาวไปจนถึงตัวอาคารเป็นเอกลักษณ์ ส่วนสไตล์การออกแบบอาคารชั้นเดียวทรงยุโรปแต่หลังคาเป็นศิลปะลาว หันหน้าไปทางพระฐานพูสี ส่วนท้ายหวังติดแม่น้ำโขง จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อใช้เป็นพระราชฐาน ทรงงาน รวมถึงออกว่าราชการ ตลอดจนต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จนสุดท้ายเมื่อประเทศลาวเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบสังคมนิยม(ตามแบบเวียดนาม) ยกเลิกระบอบกษัตริย์ ที่นี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปีพ.ศ.2519
เมื่อเดินผ้านต้นตาลสูงเข้าไปจนถึงหน้าอาคารหลัก จะเห็นหน้าบันรูปช้าง 3 เศียร เป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรล้านช้าง เราก็เดินขึ้นไปทางซ้ายมือเพื่อเก็บของและทำการตรวจตั๋วเพื่อเข้าชม ห้องแรกที่จะเห็นชัดเจนก็คือ ห้องโถงกลางคือ ท้องพระโรง ผนังตกแต่งประดับกระจกแบบเดียวกับที่ตกแต่งวิหารที่วัดเชียงทอง บอกเล่าเรื่อวราววิถีชีวิตของชาวลาว ถัดไปห้องด้านใน จัดแสดงห้องสมุด, ห้องบรรทมของพระเจ้าศรีสว่างวงศ์และพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา รวมถึงห้องเสวยที่จัดแสดงของกำนัลที่ส่งมาจากประเทศต่างๆ
ถ้าใครอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของประเทศลาว ผมรับรองว่า ท่านจะมาเยือนที่นี้อย่างเข้าอกเข้าใจ แล้วนึกย้อนเหตุการณ์ต่างๆของประชาชนลาว ที่ผ่านเรื่องราวอันโหดร้ายของสงครามมายาวนานตั้งแต่สมัยพม่า, สยาม ไปจนถึงยุคคอมมิวนิสต์ จนทำให้ระบอบกษัตริย์ถูกยกเลิกไปในที่สุด … สุดท้ายผมแนะนำว่า การมาเยือนพระราชวังแห่งนี้ควรมีเวลาสักหน่อย หากท่านเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเป็นพิเศษ ที่สำคัญหอพระบางที่ตั้งอยู่ด้านหน้าก็อย่าลืมแวะไปสักการะนะครับ
หอพระบาง
วิหารประดิษฐานพระบาง สร้างขึ้นในปี 1993 แล้วเสร็จในปี 2013 โดยพระบาง คือพระพุทธรูปปางประทานอภัย หล่อด้วยสำริดศิลปะเขมร ฐานตกแต่งด้วยพญานาคศิลปะลาวสวยงามมาก เมื่อก่อนให้เข้าชมด้านในได้ แต่ปัจจุบันให้สักการะได้แค่ด้านนอกเท่านั้น พระบางถือว่าเป็น พระคู่บ้านคู่เมืองของลาว มีความสำคัญเทียบเท่ากับพระแก้วมรกตของเมืองไทย ฉะนั้นการมาไหว้สักการะบูชาพระบาง ถือว่าเป็นศิริมงคลอย่างยิ่งในการมาเยือนหลวงพระบาง … ส่วนประวัติขอเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ

ถนนศรีสว่างวงศ์ กับ หอพระบาง

พระบาง
ประวัติย้อนไป 600 ปีก่อน พระเจ้าฟ้างุ้ม กษัตริย์แห่งล้านช้าง(เป็นพระญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร นครวัด กัมพูชา) ได้อัญเชิญพระบางจากนครวัดหมายว่าจะมาประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงคงเชียงทอง(หลวงพระบางในปัจจุบัน) แต่ด้วยเกิดเหตุกาณ์อัศจรรย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ ทำให้พระบางต้องประดิษฐานอยู่ ณ เวียงจันทร์ 100 กว่าปี จนพ.ศ.2055 พระเจ้าวิชุณราชได้อัญเชิญพระบางขึ้นมาประดิษฐานที่วัดวิชุนราช ทำให้เมืองเชียงคงเชียงทอง เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลวงพระบางตั้งแต่บัดนั้น …
เกร็ดน่ารู้คือ พระบางเคยประดิษฐานที่กรุงเทพฯถึง 2 ครั้ง … ถ้าเล่าย้อนไปปีพ.ศ.2089 หลังจากล้านนาและล้านช้างรบชนะกรุงศรีอยุธยา สมัยพระไชยเชษฐา พระโอรสแห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้ขึ้นครองล้านนาหรือเมืองเชียงใหม่ หลังจากพระนางจิรประภาสละราชบัลลังก์(เนื่องจากทั้ง 2 เป็นพระญาติกัน) ถัดมาปีเดียว พระเจ้าโพธิสารเสด็จสวรรคต ทำให้พระไชยเชษฐาต้องเสด็จกลับล้านช้างเพื่อจัดการความวุ่นวายในราชสำนัก และขึ้นครองราชย์ในที่สุด ครั้นเมืองพระองค์เสด็จกลับล้านช้างทรงนำพระแก้วมรกตมาด้วย ต่อมาเมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพตีเมืองเชียงใหม่ตลอดจนลาวทางตอนเหนือ ทำให้พระไชยเชษฐาต้องย้ายราชธานีมาที่เวียงจันทร์ พร้อมอัฐเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เวียงจันทร์ นานกว่า 225 ปี (ส่วนพระบางอัญเชิญลงมาเวียงจันทร์ที่หลัง ในปีพ.ศ.2257 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาฯที่ 2) ต่อมาปีพ.ศ.2321 สมัยกรุงธนบุรีมีเรื่องกับพระเจ้ากรุงเวียงจันทร์ ผลคือสยามตีเวียงจันทร์แตก พระยากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯด้วย (พระเทศลาวเป็นเมืองขึ้นของสยามตั้งแต่บัดนั้น)
เมื่อพระยากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์เป็นองค์ปฐมแห่งราชวงศ์จักรี นามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้านันมเสน เจ้าของนครเวียงจันทร์ได้กราบบังคมทูลว่า ผีหรือเทวดาที่รักษาพระแก้วมรกตับพระบางไม่ถูกกัน เมื่อครั้งพระไชยเชษฐาอัญเชิญมาอยู่ด้วยกัน ก็ถูกพม่ายึดหลวงพระบาง พอเมื่อครั้งพระพุทธรูป 2 องค์นี้มาอยู่เวียงจันทร์ ก็เกิดเรื่องกับสยาม จนอัญเชิญมาไว้ที่กรุงเทพฯก็เกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายกับบ้านเมือง (เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนแผ่นดิน) ดังนั้นพระบามสมเด็จพรพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯให้เจ้านันทเสนอัญเชิญพระบางกลับไปเวียงจันทร์
ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทร์ สร้างความเสียงหายให้กับสยามเป็นอย่างมาก และยังเป็นเตุการณ์ที่สร้างพิโรธให้แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเป็นอย่างมาก พระองค์โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพไปปราบ แล้วเผาทำลายเมืองเวียงจันทร์ไม่ให้ตั้งตัวได้ แล้วอัญเชิญพระบางมาประดิษฐานที่วัดสามปลื้ม ต่อมาในรัชกาลที่ 4 เกิดเรื่องวุ่นวายของการล่าอาณานิคมจากฝรั่งเศส รวมถึงความเชื่อว่า พระบางกับพระแก้วมรกตอยู่ร่วมกันจะทำให้บ้านเมืองเกิดเรื่องไม่ดี และทางการฝรั่งเศสกล่าวอ้างว่าพระบางเป็นของประเทศลาวมาก่อน ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเก้าฯโปรดเกล้าอัญเชิญพระบางกลับไป และประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบางในปัจจุบัน (นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังอ้างว่า พระแก้วมรกตเป็นของลาว แต่ทางสยามได้แย่งว่า พระแก้วมรกตเคยอยู่ที่ล้านนามาก่อน ซึ่งตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของสยาม ข้อพิพาทนี้จึงตกไป) … ฉะนั้นถ้าเปรียบพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปประจำประเทศไทย พระบางก็เปรียบเสมือนพระพุทธรูปประจำประเทศลาวเช่นกัน

หอพระบาง และ ไนท์บาซาร์ บรรยากาศหลางคืน
วัดเชียงทอง (ค่าเข้า 20,000 กีบ)
วัดเชียงทอง ได้รับการยกย่อให้เป็นวัดที่สวยงามที่แห่งเมืองหลวงพระบาง เป็นดั่งอัญมณีที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของศิลปะวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านช้าง อายุกว่า 400 ปี ที่นี้ถูกสร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ราวปีพ.ศ.2102-2103 เป็นวัดที่มีความสมบูรณ์ไม่เคยได้รับการเผาทำร้ายจากสงคราม และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
พระอุโบสถหลัก หรือภาษาลาวเรียกว่า “สิม” เป็นศิลปะแบบล้านช้างดั้งเดิม มีความอ่อนช้อยงดงามของหลังคา 3 ชั้น ประดับช่อฟ้าที่ทองตรงกลางหลังคาสูงสุด 17 ช่อ (สร้างโดยกษัตริย์ ถ้าคนสามัญสร้างจะราวๆ 1-7 ช่อ) ส่วน โหง่ หรือหน้าบันประดับด้วยพญานาค ราวถึงเอกลักษณ์ที่โดยเด่นของสิมหลังนี้คือ ประตูทางเข้าที่แกะสลักลวดลายได้อย่างวิจัตรบรรจงสีทองงดงามมาก ด้านในประดิษฐ์พระประธานนามว่า “พระองค์หลวง” … ส่วนด้านข้างและด้านหลัง เป็นศิลปะลวดลายด้วยกระจกสี เรื่องราวนิทานชีวิตความเป็นอยู่ของชาวหลวงพระบาง รวมถึงต้นไม้ใหญ่ หรือ ต้นทอง ลายล้อมด้วยสัตว์นานาชนิด รวมถึงหงษ์ตัวใหญ่อันสวยงาม หากใครมาเยือนแล้วต้องหยุดถ่ายรูป ถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญของพระอุโบสถหลักวัดเชียงทองครับ
ถัดมาเป็น วิหารแดง ด้านนอกประดับด้วยกระจกสีแบบเดียวกับพระอุโบสถ ด้านในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ศิลปะแบบล้านช้าง ส่วนอุโบสถเล็กๆด้านหลังพระอุโบสถหลัก ประดิษฐาน “พระม่าน” พระพุทธรูปที่มาลักษณะคล้ายพระบาง(จนหลายคนเข้าใจผิด) ถ้านักท่องเที่ยวท่านใดมาในวันที่ประตูไม่ได้เปิด สามารถมองช่องเล็กๆลอดประตูเข้าไปได้ จะส่องเห็นพระม่านชัดเจนครับ

วิหารพระพุทธไสยาสน์ และวิหารพระม่าน

พระพุทธรูปในวิหารข้างพระอุโบสถ(องค์นี้ไม่ใช่พระม่าน นะครับ)
สุดท้ายโรงเมี้ยนโกศ หรือโรงเก็บพระโกศ, พระราชรถ, ราชยานของพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อปีพ.ศ.2502 ภายหลังได้สร้างโรงเมี้ยนโกศเพื่อเก็บรักษา … ซึ่งภายนอกจะเห็นบานประตูแกะสลักเรื่องราวรามเกียตริย์ในหลายๆตอน อย่างเช่น ภาพีดาลุยไฟที่มีความสวยงามและมีพลังไปในตัว ส่วนภายในนั้น มีราชรถสีทอง พร้อมกับพระโกศ 3 โกศ ได้แก่ โกศพระเจ้าอา(โกศหน้าบนราชรถ), โกศพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา(โกศใหญ่กลางราชรถ) และโกศพระราชมารดา(อยู่ด้านล่างทางซ้ายของราชรถ) และนอกจากนี้หลังราชรถยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่มากมายที่นำมาเก็บรวบรวมไว้ในโรงเมี้ยนโกศแห่งนี้ด้วย

ปีพ.ศ.2504 พิธีถวายเพลิงศพ พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ที่วัดพระธาตุหลวง หลวงพระบาง (สังเกตเห็นราชรถที่ใช้ในงาน)

โรงเมี้ยนโกศ

ประตูไม้แกะสลักลวดลานางสีดาลุยไฟ

พิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา
ตลาดเช้า
ถ้าเดินมากจากถนนศรีสว่างวัฒนาผ่านพระราชวัง-วัดใหม่ ถนนข้ามๆวันใหม่คือ ตลาดเช้า (หรือคุณเดินจากถนนริมโข่ง เดินเข้าซอยข้างพระราชวังแล้วจะเจอถนนตัดตรงกลาง ตรงนั้นก็เข้าได้) ที่นี้เป็นแหล่งร่วมอาหารพื้นเมืองของที่นี้ เป็นตลาดสด(สดจริงๆๆๆๆๆ ปลาส่งตรงจากแม่น้ำโขงมาที่นี้ทุกชั่วโมง) ในฐานะนักท่องเที่ยว ก็คงจะได้แต่เดินเพลินๆ หรืออาจจะซื้อขนมครกหรือนั่งกินก๋วยเตี๋ยวกลางตลาดก็ตามสะดวก ถือว่าเป็นสถานที่ที่มาเยี่ยมชมความเป็นอยู่วิถีชีวิตของชาวหลวงพระบางที่แห่งหนึ่ง
เดินไปท้ายตลาดแล้วเดินมาที่ถนนริมโขง คุณจะเจอกับร้านประชานิยม ร้านที่จะมีทั้งคนลาวและนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาจิบกาแฟ กินปาท๋องโก้ รวมถึงโจ๊ก รสชาติถือว่าอร่อยใช่ได้เลยทีเดียว ถ้าใครมาในวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะเห็นทัวร์ลงอยู่ปะปลายครับ

บรรยากาศตลาดเช้า
น้ำตกกวางสี (ค่าเข้า 20,000 กีบ)
ผมบอกกับเจ้าของโรมแรมที่พักว่า ผมต้องการจะไปน้ำตกกวางสี ถ้ามีนักท่องเที่ยวคนอื่นไปด้วยจะได้ช่วงแชร์ค่ารถ สรุปแล้วเช้าวันรุ่งขึ้นมีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษและฮอลแลนด์ต้องการไปน้ำตกกวางสีด้วยเช่นกัน รวมทั้งหมด 5 คน เราจ่ายค่ารถไปกลับคนละ 50,000 กีบ หรือราวๆ 230 บาท ผมแนะนำให้ไปตั้งแต่ช่วงเช้าเพราะว่าคนจะน้อยกว่าช่วงบ่าย ถ่ายรูปได้หลากหลายมุมไม่ติดคน

รถมารอรับที่โรงแรม

เพื่อนเดินทาง
เราออกเดินทางจากหลวงพระบางไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ราวๆ 1 ชั่วโมง ก็ถึงน้ำตกกวางสี ในเวลาประมาณ 10 โมง ที่นี้ขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดของเมืองนี้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจผู้คนหลวงพระบางหลายช่วงอายุคนแล้ว หลังจากเราลงรถที่ลานจอดรถ เสียค่าเข้าคนละ 20,000 กีบ เดินตามทางดินผ่านต้นไม้ใหญ่จนไปเจอกับสวนหมี หมีควายหลาย 10 ตัวที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวก่อนที่จะเดินเข้าไปถึงน้ำตก โดยหมีแต่ละตัวมีชื่อด้วยนะ แต่จะชื่ออะไรบางก็ต้องไปอ่านเอากันเองนะ (คนรีวิวจำไม่ได้) หลังจากผ่านฝูงหมีแล้ว เราจะเจอกับน้ำตกหลากหลายขั้น โดยน้ำมีสีที่ใสออกเขียวดูแล้วเย็นตาน่าลงไปเล่นมากๆ แต่จุดหมายเราคือต้องเดินไปถึงสุดสูงสุดซะก่อน … เดินมาไม่นาน ก็ถึงจุดสูงสูดของน้ำตกกวางสี สูงราวๆ 70 เมตร เป็นลักษณะหินปูนที่มีความลดลั่นสวยงาม ด้านลางเป็นฐานหินที่ค่อยรับน้ำ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดไฮไลท์ถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนครับ
ถ้าใครหิวบริเวณใกล้ๆจุดสูงสุดของน้ำตกกวางสี มีร้านอาหารให้บริการ แวะรับประทานข้าวตรงนี้พร้อมกับชมวิวน้ำตกไปด้วยก็ไม่เสียหาย ส่วนใครที่อยากลงไปเล่นน้ำ ก็มีหลายฐานที่เดินผ่านมา คุณสามารถลงไปกระโดดน้ำเล่นได้สบายๆครับ

ลาดจอดรถหน้าทางเข้าน้ำตกกวางสี

สวนหมีควายหลายตัว รอรับนักท่องเที่ยว

ทางเข้าสู่น้ำตก

เดินผ่านน้ำตกหลากหลายชั้น เพื่อเดินไปถึงจุดสูงสุด

มุมถ่ายรูปมหาชนคือตรงนี้
ถ้ำปากอู หรือ ถ้ำติ่ง (ค่าเข้า 20,000 กีบ ไม่รวมค่าเรือ)
การเดินทางไปถ้ำปากอูมี 2 วิธี คือ ทางเรือ(2.30 ชม.) และทางรถ(ต่อเรือข้ามฝั่งอีกที 45 นาที) ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเลือกไปทางเรือมากกว่า เพราะนั่งทวนน้ำในแม่น้ำโขงเพื่อชมบรรยากาศ 2 ข้างทางไปด้วย ส่วนการไปเรือนั้น นอกจากคุณจะซื้อทัวร์ครึ่งวันจากเอเจนซี่แล้ว คุณสามารถซื้อตั๋วได้เองจากท่าเรือ โดยท่าเรือที่ผมไปเป็นท่าเรือท่องเที่ยวของสมาชิกเรือ ที่จะมารอรับนักท่องเที่ยวทุกๆวันเวลา 8.00น. ราคา 65,000 กีบ (270 บาท) ซึ่งท่าเรือจะอยู่ถนนริมโขง ชื่อว่า “ท่าวัดน้อง” อยู่หน้าโรงแรม Mekong Sunset View ขอย้ำนะครับ คุณต้องมาในเวลา 8 โมงเช้าเท่านั้น ถ้ามาหลังจากนั้น คุณต้องเหมาเรือไป ราวๆ 300,000 กีบครับ

ท่าเรือวัดน้อง มาประมาณ 8.00น. นะครับ

ค่าเรือไปกลับ ถ้ำปากอู คนละ 65,000 กีบ
เวลาราวๆ 8.30น. คนขับเรือค่อยๆปล่อยนักท่องเที่ยวขึ้นเรือของตัวเอง ราวๆ 6-8 คนต่อลำ ล่องทวนน้ำขึ้นไป ระหว่างทางเรือจะจอดแวะหมู่บ้านสร้าง เป็นหมู่บ้านที่ขายของที่ระลึกต่างๆ(คล้ายๆไนท์บาซาร์) รวมถึงการต้มเหล้าแบบสดๆ ใครอยากลองก็ลองได้ ถ้าใครชอบก็ซื้อกลับได้เช่นกันครับ หลังจากแวะในจุดที่ราวๆ 30 นาที เราก็เดินทางกันต่อไปจากถึงถ้ำปากอู ที่เรียกว่าปากอูก็เพราะว่า ตรงบริเวณถ้ำเป็นจุดที่แม่น้ำโขงตัดกับลำน้ำอู จึงได้ชื่อว่าถ้ำปากอูนั้นเอง

บรรยากาศริมโขง

แวะหมู่บ้านสร้างระหว่างทางไปถ้ำปากอู

เดินทางมา 2.30 ชั่วโมง ก็ถึงถ้ำปากอูแล้วครับ
ครั้งแรกที่ได้มองเห็นถ้ำปากอู ผมรู้สึกถึงความมีมนต์ขลังของที่นี้ เพราะปากถ้ำมีขนาดใหญ่โตกว่าที่เราคิด รวมถึงเรื่องราวความเชื่อการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวหลวงพระบางตั้งแต่กษัตริย์จนถึงชาวบ้านที่ให้ความเคารพกราบไหว้สถานที่แห่งนี้มาอย่างช้านาน … พอเราลงจากเรือแล้วเดินไปซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปในบริเวณด้านใน จะเป็นได้ว่า ถ้ำปากอู หรือที่เรียกถ้ำติ่ง เพราะเป็นรูปร่างของหินย้อยลงมาเป็นติ่งนั้นเอง ที่นี้ประกอบด้วย 2 ถ้ำ คือ ถ้ำลุ่ม ถ้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านล่าง และถ้ำเทิง หรือถ้ำที่อยู่ข้างบนต้องเดินขึ้นไปครับ
สำหรับถ้ำลุ่ม มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำ มีหินงอกหินย้อย ภายในมีพระพุทธรูปหลากหลายขนาดเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ทำมาจากไม้แกะสลักศิลปะแบบล้านช้างและฝีมือของชาวบ้าน ที่สำคัญทุกๆมีในช่วงปีใหม่ สมัยที่ประเทศลาวยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ เจ้ามหาชีวิตจะเดินทางพร้อมข้าราชบริพาร รวมถึงประชาชน ร่วมกันสรงน้ำพระ ทำบุญ ถือว่าเป็นพระเพณีที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี

พระธาตุอยู่กลางถ้ำปากอู

พระแกะสลักด้วยไม้หลากหลายขนาดมีจำนวนมากในถ้ำนี้

ช่องที่เกิดจากหินงอกหินย้อย สามารถมองออกไปเห็นแม่น้ำโขง
สำหรับถ้ำเทิงที่อยู่ด้านบน เดินขั้นบันไดราวๆ 218 ขั้น จะเห็นซุ้มประตูไม้โบราณศิละปะล้านช้าง ถึงแม้ว่ามีความเก่าแก่ ก็ยังพอจะมีลวดลายปรากฏให้เห็น ด้านในต้องส่องไฟฉายเพราะภายในมืดมากๆ ซึ่งถ้ำเทิงในอดีตนั้น ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระมหากษัตริย์หรือพระภิกษุครับ … หลังจากเยี่ยมชมถ้ำปากอูราวๆ 2 ชม. เราก็เดินทางกลับด้วยเรือ เนื่องจากเรานั่งกลับตามกระแสน้ำ จึงใช้เวลาเพียงชั่วโมงนิดๆก็กลับมาถึงท่าเรือเมืองหลวงพระบางที่เราขึ้นมาในตอนแรกแล้วครับ

ประตูหน้าถ้ำเถิง แกะสลักศิลปะล้านช้าง มีความเก่าแก่ แต่ยังคงเห็นลวดลายสวยงาม

ภาพวาดจากนักสำรวจชาวโปรตุเกส ราวปี 1865-1867 ทำให้โลกรู้จักถ้ำปากอู
ไนท์บาร์ซาร์
ถนนคนเดินหลวงพระบาง เริ่มตั้งแต่หัวมุมถนนพิพิธภัณฑ์ราชวังไปจนถึงตลาดมืด จะมีแม่ค้าพ่อค้ามาขายของที่ระลึกที่นี้ทุกวัน ตั้งแต่ช่วง 5 โมงเย็นไปจนถึง 3 ทุ่มครึ่ง ของที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้า, กระเป๋า, ภาพถ่าย, ของที่ระลึกประดับด้วยไม้ แต่ที่แน่ๆของที่ขายดีๆส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าที่สกรีนประโยคเกี่ยวกับหลวงพระบางหรือประเทศลาว, เบียร์ลาว, สะบายดี เป็นต้น ใครที่มาเยือนหลวงพระบางถ้าไม่รู้จะซื้ออะไรก็มาเดินเล่นเพลินๆได้นะครับ ส่วนราคาก็ลองต่อลองดู ที่นี้ขายของราคาไม่ได้โหดมาก ลองเทียบเป็นเงินไทยดู ถ้าสมเหตุสมผลก็จัดไปครับ

ไนท์บาร์ซาร์หน้าพระราชวัง-หอพระบาง

เสื้อยืดพิมพ์ภาษาลาว ของขายดีของที่นี้
ตลาดมืด
สุดทางไนท์บาร์ซาร์ จะเจอตรอกเล็กๆทางขวามืด เดินเข้าไปจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาหาอาหารยามค่ำคืน โดยอาหารที่นี้จะเป็นอาหารทั่วไป ประกอบด้วย ของปิ้งย่างต่างๆ, ส้มตำ รวมถึงบุฟเฟ่ที่คุณสามารถตักอะไรก็ได้ให้เต็มถ้วยในราคา 40,000 กีบ(180 บาท) นอกจากการกินอาหารในร้านอาหารดีๆแล้ว ตรอกตลาดมืดถือว่าเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ปิดประมาณ 4 ทุ่มครับ
แม่น้ำคาน-สะพานไม่ไผ่ (ค่าเข้า5,000 กีบ)
จุดชมวิวแม่น้ำคานที่สวยที่สุดแห่งของหลวงพระบาง สร้างโดยชาวบ้าน ซึ่งคุณต้องเสียค่าผ่านทางในการมาเยือน ถือว่าเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาถ่ายรูปอีกที่หนึ่ง นอกจากสะพานไม้ไผ่แล้ว เมื่อคุณเดินข้ามฝั่งไปจะเจอกับหมู่บ้านพันหลวง มีร้านขายที่ระลึก และร้านอาหารชื่อว่า ร้านเย็นสบาย เป็นห้างร้านที่จัดอยู่เชิงผา มีที่นั่งชมวิวแม่น้ำคาน เมนูที่คนมักจะนิยมกินกันก็คือ หมูกระทะ หรือถ้าใครไม่อยากกินอะไรหนักๆ ก็สั่งแค่น้ำปั่นก็ถือว่าโอเคครับ … เดินเลยไปอีกนิดจะเจอกับวัดพันหลวง เป็นวัดเล็กๆธรรมดาๆครับ
เมืองจอมเพชร (ข้ามฝั่งโขง) ***แนะนำให้ไป***
ถือว่าเป็นของแถมสำหรับผู้ที่มีเวลาเหลือจากการเที่ยวหลวงพระบาง การมาเยือนเมืองจอมเพชร (ภูเท้า-ภูนาง) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับแม่น้ำโขง แบบ one day trip ถือว่าโอเคมากๆ เพราะคุณจะได้มองเมืองหลวงพระบางในอีกมุมมองหนึ่งที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งครับ (ประมาณปี 2560 คนไทยอาจจะเดินทางมาหลวงพระบางง่ายขึ้น จากถ้าฝั่งน่าน เข้าประเทศลาว และผ่านเมืองจอมเพชร ในตอนนี้อยู่ในขั้นตอนขยายถนนครับ)

อุโบสถวัดจอมเพชร มองจากฝั่งหลวงพระบาง
ผมออกเดินทางในช่วงสายๆ หลังจากกินข้าวเช้า เดินมาขึ้นเรือที่ท่าเรือข้ามฝั่ง บริเวณท่าเรือท้ายพระราชวัง ค่าข้ามฝั่งไปเมืองจอมเพชร 5,000 กีบ มีเรือเฟอร์รี่ข้านฝั่งตลอดทั้งวัน ใช้เวลาไม่นานก็ขึ้นฝั่งแล้วครับ หลังจากขึ้นฝั่งเดินขึ้นไปจนถึงถนนหลัก เดินเลี้ยวขวาไปตามทางหมู่บ้านเชียงแมน เดินไปราวๆ 10 นาที เดินชมหมู่บ้านของชาวบ้านวิถีชีวิตแบบบ้านนอกๆ(ถ้าเทียบกับฝั่งหลวงพระบาง) จนมาถึงวัดเชียงแมน
วัดเชียงแมน เมืองจอมเพชร (ค่าเข้า 10,000 กีบ)
สร้างโดยพระไชยเชษฐาธิราช และได้รับการบูรณะซ่อมแซมเเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยชื่อเชียงแมน มีความหมายว่า เมืองสวรรค์ ลักษณะโดดเด่นของสิมหลังนี้คือ ศิลปะลวดลายซุ้มประตู ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบล้านนา ถือว่าแตกต่างจากวัดอื่นๆในบริเวณหลวงพระบาง ส่วนหลังคาไม่อ่อนโค้งและเตี้ยแบบวัดเชียงทอง มีลักษณะคล้ายลับพระอุโบสถ วัดโลกโมฬี เมืองเชียงใหม่ มากกว่า ถือว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ผสมผสามระหว่างศิลปะล้านนากับล้านช้างได้เป็นอย่างดี

พระอุโบสถวัดเชียงแมน
วัดจอมเพชร เมืองจอมเพชร (ค่าเข้า 10,000 กีบ)
ถ้าคุณยืนอยู่บนฝั่งหลวงพระบาง มองข้ามฝั่งมายั่งเมืองจอมเพชร จะเห็นภูเขาที่ทอดยาว ภูแรกเรียกว่า ภูเท้า มีลักษระคล้ายเท้า ส่วนภูนาง เป็นลักษณะคล้ายผู้หญิงนอกอยู่นั้นเอง ซึ่งตรงปลายของภูนาง เป็นที่ตั้งของวัดจอมเพชร เมื่อมองจากฝั่งหลวงพระบางจะเห็นพระอุโบสถที่ขาวตั้งอยู่ชัดเจน
เดินถัดมาจากวัดเชียงแมนไม่ไกล หลังจากเสียค่าเข้าเดินขึ้นบันไดสีขาว แล้วจะพบกับอุโบสถค่อนข้างจะทรุดโทรม มีเจดีย์เก่าๆอยู่ด้านหลัง ส่วนด้านหน้าดูจากโครงสร้างแล้ว คงมีอุโบสถหลังเล็กมากก่อน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว แล้วถัดไปจะเห็นเสาแกะสลักที่ดูแล้วน่าจะเป็นทางขึ้นเก่าอีกด้านของวัดนี้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป หลังจากไหว้พระขอพรเวลานี้ราวๆ 11 โมงกว่า ไมีมีใครขึ้นมาเลย ผมก็อาศัยโต๊ะที่นั่งใต้ต้นไม้ นั่งดูบรรยากาศเมืองหลวงพระบางและแม่น้ำโขงให้อิ่มใจ ก่อนที่จะเก็บภาพเป็นที่ระลึกให้คิดถึงว่า อีกนานแค่ไหนจะได้กลับมาตรงนี้อีก

เจดีย์และพระอุโบสถวัดจอมเพชร

วิวปม่น้ำโขงและฝั่งหลวงพระบาง
วัดล่องคูน เมืองจอมเพชร (ค่าเข้า 10,000 บาท)
เดินไปสุดถนนคอนกรีตแล้วเดินต่อไปเป็นทางดิน เดินข้ามหนองน้ำเล็กๆเป็นสะพานปูน จะพบกับวัดล่องคูน สร้างในสมัยพ.ศ. 2334 โดยวัดแห่งนี้สร้างตรงข้ามกับวัดเชียงทอง ฝั่งหลวงพระบาง ในสมัยก่อนวัดแห่งนี้มีความสำคัญในพิธีขึ้นเสวยราชบัลลังก์ของเจ้ามหาชีวิต โดยต้องถือบวชผ้าขาว 3 วัดที่วัดล่องคูน ก่อนที่จะไปรับศีลที่วัดเชียงทอง และทำพิธีขึ้นเสวยราชบัลลังก์ที่พระราชวัง … นอกจากนี้ด้านหน้าประตู มีรูปวาดนักรบจีน 2 คน เป็นเอกลักษณ์ที่หาไม่เหมือนที่ไหนๆในหลวงพระบาง ซึ่งผู้สร้างระลึกถึงว่า ชาวลาวนั้นเป็นชนชาติที่อพยพมาจากเมืองหนองแส (เป็นส่วนหนึ่งของจีนในปัจจุบัน) ส่วนภายในมีภาพวาดฝาผนังเรื่องราวในพุทธกาล และพระประธานครับ

ลวดลายทหารจีนเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครของวัดล่องคูน

ศิลปะฝาผนังวัดล่องคูน
ผับบาร์ ***แถมสุดๆ***
ในส่วนนี้เป็นรีวิวจากประสบการณ์ล้วนๆ ไม่มีตำราไหนเขียนแน่นอน …อย่างแรก ผับบาร์ที่เปิดเพลงแบบในคลับนั้น หาไม่ได้ในย่านเมืองเก่าหลวงพระบาง คุณต้องออกจากในตัวเมืองใหม่ โดยค่ารถราวๆ 100 บาท(ผมไปคนเดียว) ถ้าไม่หลายๆคนลองเหมาดูครับ … ผับที่นี้คนลาวจะมากันตอน 4 ทุ่มครึ่ง ผับเลิกประมาณ เที่ยงคืนครึ่ง ซึ่งขากลับไม่มีรถโดยสารนะครับ ถ้าคุณจะมาคุณต้องเหมารถให้เขารอรับคุณกลับจะดีสุด เพราะระยะทางประมาณ 3 กม. ถ้าคุณเดินก็ราวๆ 40 นาที ถ้ารถก็ราวๆ 10 นาทีเท่านั้น ส่วนไปที่ไหนบ้างมี 2 ที่แนะนำครับ
ดาวฟ้า
ตั้งอยู่ในโรงแรมดาวฟ้า เป็นลักษณะของผับดนตรีสด มีขนาดกว้างขวางพอสมควร (จากในภาพผมมาไว เลยยังไม่มีคน) คนที่มักจะมาที่นี้คือ วันรุ่นและวัยทำงาน ครับ
U-Pub
ถักจากดาวฟ้า มาทางถนนผ่าน หลวงพระบางวิวรีสอร์ท จะเจอกับ U-Pub อยู่ติดถนนชัดเจน ที่นี้จะเป็นผับบาร์ที่มีความทันสมัยที่สุดของที่นี้ วัยรุ่นให้ความนิยมมากันเยอะ (มากันดึกมาก 4 ทุ่ม เพิ่งจะเริ่มมากัน) มีทั้งดนตรีสดในช่วงแรก และช่วง 5 ทุ่มจะเปิดเพลงดีเจ เพลงก็มีทั้งสากล, ไทย, สามช่า ก็มีนะ … ม้วนหลายอยู่
ปล. นอกนั้นก็เป็นหลายนั่งชิลล์ แบบที่ฝรั่งหรือคนทั่วไปรีวิวกัน เช่น Lao Lao Garden, Utopia เป็นต้น ผมไปมาแล้วทั้ง 2 ที่ ก็รู้สึกเฉยๆนะ … มีอะไรสงสัย สอบถามในเพจเพิ่มเติมนะครับ
สรุปสุดท้าย … อย่าลืมดูคลิปพาเที่ยวหลวงพระบาง ประกอบการอ่านรีวิวระครับ และสำหรับทริปหลวงพระบางทริปนี้ก็ถือว่าเที่ยวครบถ้วนบริบูรณ์ ทริปที่ใฝ่ฝันและคิดถึงมาอย่างยาวนาน จัดไปแบบ 6 วันเต็มๆ ถ้ามีใครถามว่าหมดเงินเท่าไหร่ รวมทุกอย่าง 10,000+ บาท ถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม (ลองเที่ยว ลองกินหลายอย่าง จะได้รีวิวได้ครบๆไงครับ) ส่วนใครจะมาที่นี้(ครั้งแรก)อยู่แค่ 3 วัน 2 คืน เที่ยวรีบๆแบบนั้นผมไม่แนะนำนะ ถ้ามีหลายๆวันหน่อยก็จะดีมาก มาอยู่ให้ซึมซับแก่นแท้แบบชาวลาวที่หล่อมรวมอยู่ที่หลวงพระบาง มีศิลปะวัฒนธรรมที่เก่าแก่สะท้อนให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่อดีตจนถึงวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบันที่ผสมผสานและอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว … เมื่อผมมาใช้ชีวิตที่นี้ร่วมๆสัปดาห์ ไม่แปลกใจเลยว่า มีความเรียบง่ายและความสงบห่างไกลความวุ่นวายจากการจราจรและไอร้อนที่มาจากตึกอาคารสูงในกรุงเทพฯ ช่างเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้พักร่างกาย รีบู๊ตสมองให้ปลอดโปร่ง รู้สึกอิ่มใจที่ได้เยือน … แล้วจะกลับมาอีกนะ “หลวงพระบาง … ที่คิดถึง”
ติดต่องานรีวิว nightphoomin@gmail.com
ติดตามเพจผมได้ที่
https://www.facebook.com/NightPhoominOfficial
Instagram: @nightphoomin
Twitter: @nightphoomin